กำลังโหลด...
FB คุณพงษ์นรินทร์ Transfer Pricing Specialist

การนำเข้า-ส่งออก ผ่านบริษัทการค้าอิสระจะมีปัญหาราคาโอนไหม?


เรื่องการนำเข้า-ส่งออก ผ่านบริษัทการค้าอิสระจะมีปัญหาราคาโอนไหม?
แหล่งที่มาFB คุณพงษ์นรินทร์ Transfer Pricing Specialist
วันที่
ประเภทภาษี
ข้อกฎหมาย
คำถาม
การนำเข้า-ส่งออก ผ่านบริษัทการค้าอิสระจะมีปัญหาราคาโอนไหม?
คำตอบ
เมื่อประกาศใช้กฎหมายราคาโอนใหม่ๆ คำถามหนึ่งที่ผมมักได้รับจากบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับ Related Co คือ “กรณีไหนบ้างที่บริษัทต้องยื่น (หรือไม่ต้องยื่น) Disclosure Form?” หนึ่งในคำถามประเภทนี้ที่น่าจะนำมาคุยกันคือ “บริษัท MNE ที่นำเข้าวัตถุดิบจากบริษัทแม่ เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับไปบริษัทแม่ โดยผ่านบริษัทการค้า ที่ฝรั่งเรียก Trading Firm ซึ่งเป็นบริษัทอิสระจะมีความเสี่ยงด้านราคาโอนหรือไม่?” 
     การค้าขายโดยผ่านบริษัทการค้ามีเหตุจูงใจหลายอย่างทางธุรกิจ ที่ไม่ใช่เหตุผลทางภาษี เช่น กลุ่ม MNE ขนาดเล็กที่ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจในต่างประเทศอาจต้องการความช่วยเหลือจากบริษัทการค้า การส่งออกโดยผ่านบริษัทการค้ายังช่วยบริษัทไม่ให้ต้องปวดหัวกับการต้องขอคืนภาษีตลอดเวลาอีกด้วย แม้จะซื้อขายผ่านบริษัทการค้า กลุ่มฯ ก็ยังกังวลใจถึงประเด็นภาษีราคาโอนอยู่ นอกนั้นผมก็มักได้รับคำถามเกี่ยวกับรูปแบบทางธุรกรรมที่จะไม่นำไปสู่ปัญหาด้านราคาโอนกับสรรพากรอยู่บ่อยๆ ผมจึงขอยกคำถามนี้ขึ้นมาไตร่ตรองดูกันสักหน่อย 
     เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงทางภาษี ผมจะกลับไปดูว่ากฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฯ ประเมินภาษีประเด็นใดก่อน ในกรณีภาษีราคาโอนมี 2 ประเด็นจาก 2 มาตรา คือ (ก) เจตนาไม่ยื่นข้อมูล หรือยื่นข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน (มาตรา 71 ตรี) และ (ข) ไม่กำหนดราคาโอนตามหลัก Arm’s Length (มาตรา 71 ทวิ) 
     ประเด็นแรก ในเมื่อบริษัทย่อยในไทยกับบริษัทแม่ไม่มีธุรกรรมระหว่างกัน กลุ่มฯ จึงเข้าใจว่าไม่ต้องยื่น Disclosure Form ให้กับสรรพากร ตรงนี้กลุ่มฯ เข้าใจผิดครับ มาตรา 71 ตรี วรรค 1 กำหนดให้บริษัทที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปและมีบริษัทที่มีความสัมพันธ์กัน แม้ไม่มีธุรกรรมระหว่างกันก็ต้องยื่น Disclosure Form ถ้าบริษัทนี้พลาดไปไม่ยื่นแบบฟอร์มก็อาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 200,000 บาท 
     คำถามถัดไป บริษัทต้องแจ้งมูลค่านำเข้าส่งออกกับบริษัทแม่หรือไม่? ถ้าเผลอไม่แจ้งข้อมูลจะเสียค่าปรับหรือไม่? ประเด็นนี้บริษัทไม่ต้องกรอกข้อมูลนำเข้าส่งออกกับบริษัทแม่ เพราะดูตามเอกสารบริษัทซื้อและขายสินค้ากับบริษัทการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกัน จึงไม่มีธุรกรรมกับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กัน ไม่ต้องแจ้งข้อมูลธุรกรรมกับบริษัทการค้าอิสระนั้นๆ  ฉะนั้นการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันผ่าน Trading Firm อิสระก็อาจช่วยให้บริษัทหลีกเลี่ยงไม่ส่งข้อมูลธุรกรรมที่มีราคาโอนนี้ให้สรรพากรได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่การกระทำเช่นนี้อาจไม่ใช่ผลดีต่อบริษัทก็ได้ 
     ประเด็นที่ 2 ในเมื่อบริษัทไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับบริษัทแม่ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดราคาโอนตามหลัก Arm’s Length จริงหรือไม่? อันนี้จริงครึ่งเดียวครับ ในแง่รูปแบบ (Form) กฎหมายไม่ได้กำหนดให้บริษัทต้องจัดเตรียม Local File เพื่อพิสูจน์ว่าราคาโอนของธุรกรรมกับบริษัทแม่ (ที่มีบริษัทการค้าคั่นกลาง) สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 71 ทวิ ซึ่งมองผ่านๆ ก็ดูดี ช่วยประหยัดรายจ่ายค่าจัดเตรียม Local File ไปได้พอควร แต่โดยสาระ (Substance) แล้ว ราคาซื้อ-ขายสินค้าก็คือราคาโอนระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทแม่ เพียงแต่ต้องหัก Margin บางส่วนไปเป็นค่าบริการของบริษัทการค้าเท่านั้น เมื่อถอดเอาค่า Margin นั้นๆ ออกไปก็จะได้ราคาโอนระหว่างบริษัททั้งสอง หรือจะใช้วิธีเทียบเคียงอัตรากำไรก็ยังใช้พิสูจน์ความเหมาะสมของราคาโอนได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทมากกว่าด้วย
     ผมเสนอว่าธุรกรรมที่ผ่าน Trading Firm ด้วยวิธีราคาตามกฎหมายราคาโอนจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะสรรพากรสงสัยว่าบริษัทซื้อแพง-ขายถูก (ไม่ใช่ราคาตลาด) เจ้าหน้าที่ฯ ก็ยังประเมินภาษีได้อยู่ดี โดยใช้อำนาจตามมาตรา 65 ตรี (15) และ 65 ทวิ (4) ที่แย่กว่านั้นคือ บทบัญญัติทั้งสองไม่ได้ให้นิยามราคาตลาด จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งอาจหยิบยกเอาราคาที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐมากกว่ามาเป็นราคาตลาด ทีนี้บริษัทก็ต้องหาทางอธิบายกันเหนื่อยหน่อยครับ

phongnarin_r@drkilaw.com





ขอขอบคุณข้อมูลจาก FB: Phongnarin Ratanarangsikul ที่อนุญาตให้นำความรู้ดีๆ  มาเเบ่งปันใน Website Tax-EZ ค่ะ

คลิ๊กที่นี่ เพื่อติดตาม FB เพจ " Phongnarin Ratanarangsikul "