คำสั่งกรมสรรพากร(ป) D.I.

คำสั่งกรมสรรพกร (ป) 164/2568
เรื่อง (ไทย) | คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 164 /2568 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน |
เรื่อง (อังกฤษ) | |
ภาษาไทย (TH) | คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 164/2568 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน _________________ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้านอกราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542 ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542 “ข้อ 3/1 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาไปใช้ในการประกอบกิจการทั้งสองประเภท ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มออกก่อน แล้วจึงนำภาษีซื้อส่วนที่เหลือจากการปันส่วนไปหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่าง ในเดือนภาษีพฤษภาคม บริษัท ก. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน มีรายได้จากการขายสินค้าในประเทศไทยจำนวน 16 ล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าที่มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้ากันในต่างประเทศเป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด) บริษัท ก. มีภาษีซื้อซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใดจำนวน 1 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ก. จะต้องปันส่วนภาษีซื้อออกก่อนร้อยละ 20 ตามสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวน 2 แสนบาท แล้วบริษัท ก. จึงมีสิทธินำภาษีซื้อส่วนที่เหลือจากการปันส่วนจำนวน 8 แสนบาท ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีดังกล่าว” ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542 “ข้อ 3/2 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (กิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ) และประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นได้นำสินค้า หรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาไปใช้ในการประกอบกิจการทั้งสามประเภท ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มออกก่อน แล้วจึงนำเฉพาะภาษีซื้อส่วนที่เหลือจากการปันส่วนมาเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตัวอย่าง บริษัท ข. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการขายไก่สดในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปี 2566 บริษัท ข. มีรายได้จากกิจการขายไก่สดโดยการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวนร้อยละ 50 และรายได้จากกิจการขายไก่สดในประเทศไทยซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวนร้อยละ 50 ต่อมาเดือนภาษีพฤษภาคม 2567 บริษัท ข. มีรายได้จากการส่งออกไก่สดไปต่างประเทศ จำนวน 6 ล้านบาท รายได้จากการขายไก่สดในประเทศไทยจำนวน 10 ล้านบาท และรายได้จากการขายไก่สดที่ซื้อจากผู้ขายที่ต่างประเทศและส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศจำนวน 4 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด) บริษัท ข. มีภาษีซื้อซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นของกิจการประเภทใดจำนวน 1 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ข. จะต้องปันส่วนภาษีซื้อออกก่อนร้อยละ 20 ตามสัดส่วนรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวน 2 แสนบาท แล้วจึงนำภาษีซื้อส่วนที่เหลือจากการปันส่วนจำนวน 8 แสนบาท มาเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา (รายได้ของปี 2566 คิดเป็นอัตราส่วน 50 : 50) บริษัท ข จึงมีสิทธินำภาษีซื้อเฉพาะส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4 แสนบาท ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีพฤษภาคม 2567” สั่ง ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2568 ปิ่นสาย สุรัสวดี (นายปิ่นสาย สุรัสวดี) อธิบดีกรมสรรพากร |
ภาษาอังกฤษ (EN) | ขออภัย สำหรับหัวข้อนี้ไม่มีการแปลภาษาอังกฤษค่ะ Sorry, This Regulation doesn’t have English Translation. |
Tax-EZ(easy) Note |