ประกาศฯ เกี่ยวกับอากรแสตมป์ DG.N.-S.D

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ ฉบับที่ 58
เรื่อง (ไทย) | กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ |
เรื่อง (อังกฤษ) | |
ภาษาไทย (TH) | ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 58) _________________ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 มาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 และมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดวิธีการชำระอากร เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในประกาศนี้ “ตราสารอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ตราสารแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ให้บริการจัดทำและยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ตแทนผู้มีหน้าที่เสียอากรตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ให้บริการ สำหรับการจัดทำและยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทนผู้มีหน้าที่เสียอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562 “รหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์” หมายความว่า รหัสที่กรมสรรพากรออกให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียอากร เมื่อกรมสรรพากรได้รับชำระเงินค่าอากรแล้ว เพื่อใช้ในการตรวจสอบรายการข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อ 2 ให้ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร (1) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (2) โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตร และใบรับรองหนี้ ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใด ๆ เป็นผู้ออกตามลักษณะแห่งตราสาร 2. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (3) เช่าซื้อทรัพย์สิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 3. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (4) จ้างทําของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (5) กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ตามลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (6) กรมธรรม์ประกันภัย ตามลักษณะแห่งตราสาร 6. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (7) ใบมอบอํานาจ ตามลักษณะแห่งตราสาร 7. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (8) ใบมอบฉันทะสําหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท ตามลักษณะแห่งตราสาร 8. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (9) ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทํานองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสาร ทํานองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 9. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (10) บิลออฟเลดิง ตามลักษณะแห่งตราสาร 10. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (11) ใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใด ๆ และพันธบัตรของรัฐบาลใด ๆ ที่ขายในประเทศไทย ตามลักษณะแห่งตราสาร 11. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (12) เช็ค หรือหนังสือคําสั่งใด ๆ ซึ่งใช้แทนเช็ค ตามลักษณะแห่งตราสาร 12.แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (13) ใบรับฝากเงินประเภทประจําของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย ตามลักษณะแห่งตราสาร 13. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (14) เลตเตอร์ออฟเครดิตตามลักษณะแห่งตราสาร 14. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (15) เช็คสําหรับผู้เดินทางตามลักษณะแห่งตราสาร 15. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (16) ใบรับของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 16. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (17) ค้ําประกัน ตามลักษณะแห่งตราสาร 17. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (18) จํานํา ตามลักษณะแห่งตราสาร 18. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (19) ใบรับของคลังสินค้า ตามลักษณะแห่งตราสาร 19. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (20) คําสั่งให้ส่งมอบของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 20. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (21) ตัวแทน ตามลักษณะแห่งตราสาร 21. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (22) หนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน ตามลักษณะแห่งตราสาร 27. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (23) ใบรับ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์เฉพาะกรณี (ค) ใบรับสําหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ” (แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 63)ฯ ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป) ข้อ 3 ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2 ตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังต่อไปนี้ (1) ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ได้รับจากการลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th (2) ทาง Application Programming Interface ของกรมสรรพากร (ก) กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทาง Application Programming Interface ของกรมสรรพากรด้วยตนเอง ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งขอจัดทำและยื่นรายการข้อมูลการเสียภาษีอากรผ่าน Application ProgrammingInterface (API) (ภ.อ.01.2) พร้อมข้อตกลงในการจัดทำและยื่นรายการข้อมูลการเสียภาษีอากรผ่าน Application Programming Interface ณ กองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร เมื่อได้รับชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) จากกรมสรรพากรแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทาง Application Programming Interface ของกรมสรรพากร โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ดังกล่าว (ข) กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรแต่งตั้งผู้ให้บริการเป็นตัวแทนยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทาง ApplicationProgramming Interfaceของกรมสรรพากร ให้ผู้มีหน้าที่ เสียอากรพิสูจน์และยืนยันตัวตนต่อผู้ให้บริการตามวิธีการที่ผู้ให้บริการกำหนด ข้อ 4 การยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามข้อ 3 ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและชำระเงินค่าอากร ก่อนกระทำตราสารหรือภายในสิบห้าวัน นับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสาร โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ กรณีวันสุดท้ายของการยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินเป็นวันหยุดราชการ ให้ยื่นได้ภายในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดราชการนั้น ข้อ 5 เมื่อผู้มีหน้าที่เสียอากรได้ยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรชำระเงินค่าอากรโดยใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากร ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลังและรายได้กรมสรรพากรเป็น “เจ้าหน้าที่รับชำระเงินภาษีอากร” เพื่อรับชำระเงินค่าอากร ข้อ 7 เมื่อผู้มีหน้าที่เสียอากรได้ยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยได้โอนเงินค่าอากรเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากร และกรมสรรพากรได้ออกรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์พร้อมใบเสร็จรับเงินตามจำนวนเงินซึ่ง “เจ้าหน้าที่รับชำระเงินภาษีอากร” ได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรแล้ว ให้ถือว่าตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตามรายการข้อมูลในแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์(อ.ส.9) ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ข้อ 8 ผู้มีหน้าที่เสียอากรรับรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์และใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้ (ก) กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตามข้อ 3 (1) ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรดาวน์โหลด (Download) ผ่านระบบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th (ข) กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตามข้อ 3 (2) ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรขอรับผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทาง ApplicationProgramming Interface ของกรมสรรพากร ข้อ 9 ให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรนำรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์ไปใช้อ้างอิงหรือผนวกกับตราสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงว่าตราสารอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามข้อ 7 แล้ว “ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2 ที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผู้มีหน้าที่เสียอากรจะเลือกยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน และชำระอากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยใช้แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ก็ได้และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกใบรับเงินและหลักฐาน ตามมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ให้ถือว่าตราสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว” (แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 61)ฯ ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป) ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ) อธิบดีกรมสรรพากร |
ภาษาอังกฤษ (EN) | สำหรับสมาชิก Tax-EZ สามารถกดปุ่ม “ตั้งคำถาม” เพื่อเเจ้งหัวข้อที่ต้องการให้แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี่ค่ะ This function for Tax-EZ member only. Please request English Translation Click and press “ตั้งคำถาม” |
Tax-EZ(easy) Note |